Entertainment

การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง [ตอนต้น]


การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง

ยุคสมัยของวงการเพลง หรืออุตสาหกรรมเพลง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีจะพาไปที่ใด แต่วิธีของการทำเพลงแทบไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย อาจจะเพียงแค่มีอุปกรณ์บางอย่างมาช่วยให้ทำงานสะดวกมากขึ้น

ที่สุดแล้วการทำเพลงก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็น ค่าห้องอัด ค่าจ้างนักดนตรีมาอัดงานให้ ค่ามิกซ์เสียง ค่านักร้อง ค่่าคนเขียนเนื้อ ค่าคนทำทำนอง ค่าคนเรียบเรียง ค่า Producer ค่านักร้อง ค่าทำปก ค่าแผ่น ค่าโฆษณา และยังมีอื่นๆ อีกมากมาย อย่างน้อยที่สุดการทำเพลง 1 อัลบั้มก็ต้องมีประมาณ 5 แสนบาท สวนทางกับมูลค่าเพลงในทุกวันนี้ที่ตกต่ำลงสุดขีด จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “เพลงเท่ากับของฟรี” ไปเลย

ยุคสมัยของอุตสาหกรรมเพลง

1. ยุคทองของวงการเพลง (Physical)

ยุคที่วงการเพลงรุ่งเรืองสุดขีดนั้นเป็นยุคที่ “ทำเพลงและขายเพลงกันจริงๆ”  ไม่ได้ทำเพลงเพื่อขายโชว์เหมือนทุกวันนี้ ในยุคนั้นการขายเพลงจะขายเป็น แผ่นเสียง (Vinyl) และเริ่มพัฒนามาเป็น เทปคาสเซ็ตต์ จนถึงแผ่นซีดีในที่สุด

ลองหลับตานึกภาพย้อนไปในยุคนั้นดูนะครับ จะเห็นภาพของค่ายเพลงดังๆ มากมายเลย เช่น รถไฟดนตรี, แกรมมี่, อาร์เอส, คีตา, นิธิทัศน์ ฯลฯ การขายเพลงในยุคนี้เขาขายกันทีเป็นแสนเป็นล้านตลับ เรียกว่าคนในวงการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการทำเพลงอย่างเดียวก็อยู่ได้สบายๆ

คนทำเพลงยุคนี้จะมีรายได้มาจาก 2 ส่วน คือค่าจ้าง และส่วนแบ่งจากยอดขาย ประมาณนี้

ค่าจ้าง 

  • Producer มีค้าจ้างประมาณ 10,000 – 20,000 บาท ต่อเพลง
  • คนทำเนื้อร้อง และทำนอง มีค้าจ้างประมาณ 3,000 – 5,000 บาท ต่อเพลง

ส่วนแบ่งจากยอดขาย 

  • Producer มีส่วนแบ่งประมาณ 20 – 30 สตางค์ต่อเพลง
  • คนทำเนื้อร้อง และทำนอง มีส่วนแบ่งประมาณ 5 – 10 สตางค์ต่อเพลง

แต่บางคนก็ได้แค่ค่าจ้าง ไม่มีค่าส่วนแบ่ง อันนี้แล้วแต่ตกลงกัน ในยุคที่ซีดีแผ่นละประมาณ 3 ร้อย Producer บางคนอาจได้ส่วนแบ่งประมาณ 50 สตางค์ต่อเพลงเลย 

ลองคำนวณดูเอานะครับว่าถ้าอัลบั้มหนึ่งมี 10 เพลง และขายได้สัก 1 ล้าน คนทำเพลงจะมีรายได้เท่าไร

ส่วนเรื่องการละเมิดในยุคนี้ก็มีนะครับ แต่มันน้อยเพราะมันทำยาก ขั้นตอนเยอะ และการกระจายของไปสู่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้สะดวกเหมือนการมีอินเตอร์เนตแบบตอนนี้ ทำให้วงการเพลงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก จึงเรียกได้ว่าเป็น “การทำเพลงเพื่อขายเพลง” อย่างแท้จริง


2. จุดเปลี่ยนสำคัญ (MP3)

ตามสัจธรรมของโลกนี้ มีขึ้นย่อมมีลง วงการเพลงก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ เมื่อถึงจุดสูงสุดแล้วก็ย่อมมีจุดหักเหหรือจุดเปลี่ยนให้ตกต่ำลง ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของวงการเพลงก็คือ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการบีบอัดไฟล์เสียงให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า MP3 นั่นเอง

แต่การเกิดขึ้นของ MP3 ใช่ว่าจะทำอะไรได้ หากไม่เกิดระบบอินเตอร์เนต และระบบแจกเพลงฟรีบรรลือโลกอย่าง Napster โดยนายฌอน พาร์คเกอร์ (ขออนุญาตเอ่ยนามเพื่อเป็นเกียรติ) ให้กำเนิดมันขึ้นมา (ถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง The Social Network ก็จะทราบว่านายพาร์คเกอร์ คือบุคคลหนึ่งที่ช่วยให้  facebook ก้าวกระโดดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว) แม้ว่าที่สุดแล้วศาลจะตัดสินให้เขาผิด แต่นับจากนั้นความหายนะก็มาถึงวงการเพลง เพราะคนทั้งโลกถูกปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคเพลงฟรีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าร้านขายเทป และซีดีได้รับผลกระทบไปเต็มๆ และค่อยๆ ล้มหายตายจากไป จนกระทั่งไม่มีคนสติดีที่ไหนจะกล้าเปิดร้านขายเพลงอีกเลย

แม้ในประเทศไทย Napster จะไม่โด่งดังมากนัก เนื่องจากสมัยนั้นอินเตอร์เนตของเรายังมีความเร็วต่ำอยู่ ทำให้เกิดแผ่นผีที่ครองใจนักฟังเพลงฟรีอย่าง Vampire และประเทือง อยู่สักพักใหญ่ จนกระทั่งความเร็วอินเตอร์เนตในบ้านเราเริ่มแรงมากขึ้น ทำให้ BitTorrent, Mediafire, 4shared เว็บบอร์ดแจกเพลงต่างๆ เข้ามามีบทบาทแทน จุดนี้แหละครับที่การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่านี่มัน “บ้าไปแล้ว” ที่เห็นคนเอาเพลงมาปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรี กลับได้รับคำขอบคุณมากมายจากผู้ดาวน์โหลด ดังที่เราเห็นตามเว็บบอร์ดต่างๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ยอดขายของทั้งเทป และซีดีก็ดำดิ่งลงไปอย่างรวดเร็ว วงการเพลงจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดใหม่ที่คนในวงการนี้แทบไม่รู้จักมันเลย นั่นคือ Digital Music

3. การปรับตัวครั้งใหญ่ (Digital Music)

จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การฟังเพลงส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเครื่องเล่นเทป หรือเครื่องเล่นซีดีอีกแล้ว แต่คนฟังเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือฟังเพลงกันมากขึ้น ซึ่งการฟังเพลงผ่านคอมพิวเตอร์นั้นแทบจะทำให้เกิดธุรกิจไม่ได้เลย เนื่องจากพฤติกรรมคนฟังที่สามารถหาเพลงได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทำให้ธุรกิจเพลงต้องปรับตาม จนเกิดบริการดาวน์โหลดเพลงผ่านระบบโทรศัพท์มือถือที่การละเมิดยังทำได้ไม่สะดวกมากนัก ซึ่งก็คือพวกบริการ ดอกจันหมายเลขต่างๆ นั่นเอง การชำระเงินเองก็เปลี่ยนจากการจ่ายเงินสดที่ร้านขายเพลง มาเป็นการตัดเงินผ่านค่ายมือถือต่างๆ เช่น AIS, dtac, truemove เป็นต้น

ซึ่งการปรับวิธีการขายมาเป็นลักษณะนี้จำเป็นต้องมีการลงทุนระบบด้วยจำนวนเงินที่มากพอสมควร ดังนั้นเราจึงเห็นว่าค่ายเพลงใหญ่ๆ ที่พอมีทุนทรัพย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายมือถือต่างๆ ก็พออยู่ได้ แต่ค่ายเล็กๆ ก็ทยอยหายหน้าไป หรือต้องไปฝากขายในระบบของคนอื่น ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ เรื่องความไม่ซื่อตรง และตรวจสอบได้ยากนั่นเอง อาจจะเป็นเพราะโลกของดิจิตอล ไม่ใช่โลกของคนทำเพลงที่เป็นครีเอทีฟด้วย  จนพี่ๆ ในวงการหลายคนตอนนี้ออกแนวปลงไปแล้วก็เยอะ

เมื่อมีการปรับวิธีการขายแล้ว สิ่งที่ต้องปรับต่อมาก็คือ ต้นทุนการผลิต แทนที่จะทำเพลงขายเป็นอัลบั้มเหมือนตอนทำเทป หรือซีดี ก็ทำออกมาขายทีละเพลง หรือที่เรียกว่า Single หากเพลงไหนได้รับการเลือก หรือหยิบมาโปรโมตมากก็จะขายได้ แต่เพลงไหนไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล ก็จะไม่มีกระแสสุดท้ายก็ไปอยู่เหี่ยวๆ บน YouTube นั่นเอง

ตรงนี้เองหากคนทำเพลงคนไหนมีเพลงฮิตมากก็มีรายได้มาก แต่คนไหนทำแล้วเพลงไม่ฮิตก็อยู่ลำบาก บางคนถึงขนาดออกจากวงการแล้วไปเปิดร้านขายของเลี้ยงชีพกันเลยก็มี

ต่อมาก็คือเรื่องสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยใช้ได้อย่างเต็มที่ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ช่องทางที่ประหยัดมากขึ้นอย่าง YouTube (ประเด็นเรื่อง YouTube จะว่ากันอีกครั้งในตอนต่อไปนะครับ) และมาจริงจังกับการใช้ Social Media เช่น facebook, instagram หรือ twitter มากขึ้น โดยเน้นให้เกิดการพูดกันปากต่อปากให้มากที่สุด หรือการ Viral นั่นเอง

ทีนี้ลองมาดูกันว่าคนทำเพลงในยุคนี้จะมีรายได้มาจาก 2 ส่วน เช่นเดียวกันซึ่งก็คือค่าจ้างการทำเพลงเหมือนปกติ และมีส่วนแบ่งจากยอดดาวน์โหลดประมาณ 20 สตางค์ต่อดาวน์โหลด ซึ่งคนทำเพลงบางคนบอกว่าไม่ได้สนส่วนแบ่งจากการดาวน์โหลดอยู่แล้ว เพราะได้มาทีแค่หลักร้อยบาทต่อเพลง คิดเอาว่าเป็นค่าขนมมากกว่า

ซึ่งการดาวน์โหลดเพลงตามช่องทางที่ถูกลิขสิทธิ์ที่เฉลี่ยแล้วประมาณหลักหมื่น บางเพลงเลวร้ายหน่อยเหลือแค่หลักพันก็มี ลองคำนวณดูเอานะครับ คนทำเพลงจะอยู่ได้อย่างไร

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุค Digital Music

รายได้ส่วนใหญ่ของยุคนี้มาจากค่าสมาชิกรายเดือน ประมาณ 20-30 บาทต่อเดือน ดาวน์โหลดเพลงได้ไม่จำกัด แต่ไม่รวมค่าใช้บริการคิดเป็นนาที นาทีละ 5 บาท

ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจมากก็คือ จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 100% มีคนที่ใช้งานบริการอย่างสม่ำเสมออยู่แค่ 8% เท่านั้น นั่นบ่งชี้ได้ว่ามีสมาชิกอีก 92% ที่ไม่ได้สนใจบริการเลย หรือสมัครมาเพราะอยากใช้งาน แต่ใช้ไม่เป็นและลืมแจ้งยกเลิกบริการ

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดกลับใช้บริการดาวน์โหลด “เพลงเต็ม (Full Track)” เพียงแค่ 5% เท่านั้น แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงวงการเพลงทั้งหมดคิดเป็น 95% กลับกลายเป็น “เสียงรอสาย (Ringback Tone)” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดาวน์โหลดไม่ได้ฟัง แต่คนที่โทรไปหาจะได้ฟังเพลงนั้นแทน ซึ่งเสียงรอสายที่ว่านี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเพลงที่มีความยาวประมาณ 30 วินาทีเท่านั้น จนมีพี่ในวงการเพลงเคยบอกว่า “คิดเพลงแทบตาย ขายได้แค่ 30 วินาที”

ถ้าถามว่าคนไทยไม่ชอบฟังเพลงแล้วหรือ? ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ “คนไทยยังคงเป็นชนชาติที่รักเสียงเพลง และฟังเพลงกันทุกวัน แต่เลือกที่จะฟังในช่องทางที่ไม่เสียเงินอยู่ดี” สถิติการดาวน์โหลดเพลงถูกลิขสิทธิ์ เทียบกับการดาวน์โหลดเพลงๆ เดียวกันใน 4shared ห่างกันจนเทียบไม่ติดเลย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเมื่อไรผู้ใช้บริการอีก 92% รู้ตัว และพร้อมใจกันยกเลิกบริการ ภาพแห่งความเป็นจริงก็ปรากฏชัดเจนจนน่ากลัวเลยทันที

เขียนไปเขียนมาก็เจอแต่ปัญหา แต่ใช่ว่าปัญหาจะมีแค่นี้ ยังครับ ยังไม่หมด ส่วนจะมีอะไรอีก แล้วทางออกคนในวงการเพลงจะเป็นอย่างไร?  ค่อยอ่านตอนต่อไปนะครับ

 

อ่าน การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง [ตอนต่อ]

 

ภาพประกอบจาก wallpoper.com

© 2024 GOTWOGETHER     About | Contact
 
Powered by: Wordpress